TH EN

รวบมาให้!! รายการลดหย่อนภาษี 2567

                            

โพสต์เมื่อ 28 ตุลาคม 2567 | บทความโดย : TISCO

 

            ใกล้ช่วงปลายปีแล้ว ใครที่มีรายได้ในปีนี้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่ยังไม่ได้เตรียมวางแผนภาษี ต้องเริ่มวางแผนแล้วนะ!! สำหรับคนที่กำลังมองหาสินค้าลดหย่อนภาษี อย่าลืมวางแผนคำนวณภาษีกันอย่างรอบคอบ และศึกษารายละเอียดอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ แต่ละอย่างมีเงื่อนไขและรายละเอียดที่แตกต่างกัน เนื่องจากรายการลดหย่อนภาษีตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปีจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนั้นในแต่ละปีเราจึงควรตรวจเช็คก่อนวางแผนภาษี ว่ามีรายการลดหย่อนภาษีอะไรบ้างที่ใช้ได้
 
การคำนวณเงินได้สุทธินั้นสามารถคิดคำนวนได้แบบง่าย ๆ คือ 
 
เงินได้สุทธิ = (รายได้รวมต่อปี - ค่าใช้จ่าย) - ค่าลดหย่อน 
 

            ซึ่ง “เงินได้สุทธิ” ก็คือจำนวนเงินที่จะนำมาคำนวณภาษี หากมีค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่นำมาหักออกจากรายได้ ก็ยิ่งช่วยให้สามารถประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีลงได้ ดังนั้นการวางแผนภาษีจึงควรเริ่มวางแผนตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อให้สามารถประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีได้มากที่สุด  โดยสิ่งที่ควรรู้อันดับแรกก็คือ ใช้อะไรลดหย่อนภาษีได้บ้าง และรายจ่ายใดบ้างที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถนำมาคิดคำนวณ และหักออกจากรายได้ในแต่ละปีได้
 

สิทธิลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

 

 

• สิทธิลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองได้จำนวน  60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
• สิทธิลดหย่อนคู่สมรส สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้จำนวน 60,000 บาท แต่กรณีที่คู่สมรสเป็นผู้มีเงินได้ สามารถเลือกยื่นภาษีแยกหรือรวมกันได้
• สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์ หากเป็นการตั้งครรภ์แฝด จะนับเป็น 1 การตั้งครรภ์เท่านั้น โดยจะต้องมีเอกสารมาแสดง คือ ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความเห็นว่ามีภาวะตั้งครรภ์ และใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้จ่ายให้สถานพยาบาล ใช้สิทธิได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน
• สิทธิลดหย่อนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนเอง หรือคู่สมรส จะได้รับสิทธิลดหย่อนคนละ 30,000 บาท กรณีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท โดยบุตรแต่ละคนจะต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท และต้องมีอายุไม่ถึง 20 ปี หรือหากอายุไม่เกิน 25 ปี แต่ยังศึกษาอยู่ระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรีขึ้นไป รวมถึงหลักสูตรเนติบัณฑิต หรือเป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ้
• สิทธิลดหย่อนสำหรับบุตรบุญธรรม ที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดได้ไม่เกิน 3 คน และบุตรบุญธรรมต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้หากผู้มีเงินได้มีบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย จะต้องใช้สิทธิลดหย่อนส่วนนี้ก่อน หากใช้ครบ 3 คนแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหล่อนของบุตรบุญธรรมได้อีก
• สิทธิลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาทสูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมาอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้
• สิทธิลดหย่อนอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ หากผู้มีเงินได้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ/ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน โดยคนพิการ/ทุพพลภาพนั้น มีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท มีบัตรประจำตัวผู้พิการ และผู้มีเงินได้มีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะจะได้รับสิทธิลดหย่อน 60,000 บาท กรณีผู้พิการ/ทุพพลภาพ เป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร จะได้รับสิทธิลดหย่อนทั้ง 2 ส่วน และได้รับสิทธิทุกคนโดยไม่จำกัด แต่หากไม่ได้มีความสัมพันธ์นี้กับผู้มีเงินได้ จะได้รับสิทธิลดหย่อนเพียงแค่ 1 คนเท่านั้น
 

สิทธิลดหย่อนภาษีจากการออม การลงทุน และประกัน

 
 
 
• เงินสมทบกองทุนประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
• เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
• เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
• เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
• เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และต้องเป็นประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และกรมธรรม์ต้องมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

 

 
• เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
• กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
• กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
• กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
• กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
• กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
• กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนนี้เป็นกองทุนสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระเท่านั้น สามารถหักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 

สิทธิลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

 

 

• เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
• เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
• เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป

 

 

สิทธิลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

 

 

• Easy e-Receipt 2567 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 50,000 บาท ตามที่จ่ายจริง สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 สินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
• ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ตามที่จ่ายจริง สำหรับจังหวัดรอง 55 จังหวัด ประกอบด้วยค่าบริการท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ ค่าแพ็คเกจทัวร์ ค่าที่พักในโรงแรม รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567 (รอประกาศเป็นกฎหมาย)
• ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
• ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 สามารถลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท (รวม VAT แล้ว) รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท โดยจำกัดค่าก่อสร้างบ้านใหม่ไม่เกิน 1 หลัง สูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาท เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568 
 
            การวางแผนเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีในแต่ละปีก็เป็นการวางแผนทางการเงินอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในหมวดหมู่ของภาษี และเพื่อสิทธิประโยชน์ของตนเองไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่าย การซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ หรือการลงทุนเพื่อผลตอบแทนในอนาคต การวางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้เราสามารถวางแผนการเงินได้อย่างรัดกุมและเป็นระบบมากขึ้น และไม่ได้ส่งผลในเรื่องของการเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังส่งผลต่อการวางแผนชีวิตของตัวเราเองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของประกันชีวิต ประกันสุขภาพ การลงทุนเพื่อวัยเกษียณ การออมเพื่ออนาคต การซื้อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ดังนั้น หากยิ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีมากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองมากขึ้นเท่านั้น
 
 

#fingood #Financialliteracy #TISCO #ทิสโก้

 

 


 

ติดตามข้อมูลข่าวสาร TISCO ช่องทางอื่น ๆ ได้แล้ววันนี้!
⭐ Facebook > https://www.facebook.com/TISCOFinancialGroup
⭐ LINE > https://lin.ee/1NQ6yvI
⭐ Twitter > https://twitter.com/TISCOAdvisory
⭐ Instagram > https://instagram.com/tisco_official
⭐ Youtube > https://www.youtube.com/@TISCOGroup
⭐ Website > www.tisco.co.th

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน