กูรูทิสโก้แนะจับตาสัญญาณบวกเศรษฐกิจจีน สวนทางประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่ทั่วโลก ระบุดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีนล้วนฉายภาพแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 2 อีกทั้งไม่มีสัญญาณชะลอตัวรุนแรงอย่างที่กังวลกัน สะท้อนถึงผลการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เริ่มส่งผ่านมาสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ขณะที่เงินทุนสำรองเพิ่มขึ้นคลายความกังวลเงินทุนไหลออก
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO Economic Strategy Unit: TISCO ESU) กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 6.7% นับจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งแม้จะชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 6.8% YoY ในไตรมาส 4/2015 แต่ก็นับว่ายังขยายตัวได้ในอัตราที่สูงและไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล นอกจากนั้นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยังชี้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เริ่มส่งผ่านสู่ตลาดโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุน ภาคการผลิตที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่พลิกกลับมาเพิ่มขึ้นช่วยคลายความกังวลเรื่องเงินทุนไหลออก
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) ซึ่งนับเป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญ เร่งตัวขึ้นอย่างมากในเดือน มี.ค. นำโดยการลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จากมูลค่ายอดขายบ้านที่สูงขึ้นต่อเนื่อง (+71.0% YoY ในเดือน มี.ค. สูงสุดในรอบกว่า 1 ปี) และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัวถึง +19.6% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี โดยการเร่งตัวของภาคอสังหาฯ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สะท้อนถึงผลการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เริ่มส่งผ่านมาสู่ภาคเศรษฐกิจจริง
ขณะที่ภาคการผลิตที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปีที่แล้วจากผลของนโยบายการลดกำลังการผลิตส่วนเกิน (Supply Side Reform) เริ่มพลิกกลับมาขยายตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในเดือน มี.ค. ได้กลับมาอยู่ในระดับสูงกว่า 50 จุด ซึ่งนับเป็นระดับที่ชี้ถึงการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
การผ่อนคลายนโยบายการเงิน เช่น การลดอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio) และการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลาง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อกลับมาคึกคักอีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่ซบเซามาตลอดช่วงปีที่แล้วเนื่องจากนโยบายการปราบปรามภาคธนาคารเงา โดยการผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ยอดระดมทุนโดยรวมสุทธิ (Total Social Financing) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้พุ่งขึ้นเป็น 6.4 ล้านล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีที่แล้ว
ด้านความเสี่ยงจากปัญหาเงินทุนไหลออกและการลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศดูมีแนวโน้มคลี่คลายลงเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้จีนได้ประสบปัญหากระแสเงินทุนไหลออกนับแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว หลังจากธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดค่าเงินหยวนลง 2% ในเดือน ส.ค. 2015 ซึ่งทำให้ตลาดกังวลว่าเงินหยวนจะอ่อนลงต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลออกเป็นจำนวนมาก โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนลดลงจากจุดสูงสุดที่ราว 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 2015 มาอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา (ลดลง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดในเดือน มี.ค. ทุนสำรองระหว่างประเทศได้พลิกกลับมาเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านดอลลาร์เป็น 3.21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน่าจะสะท้อนว่ามาตรการของภาครัฐในการควบคุมเงินทุนไหลออกและความพยามในการแทรกแซงค่าเงินหยวนในตลาดฮ่องกง รวมถึงการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตามการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เริ่มส่งผลให้นักลงทุนมีความมั่นใจต่อเงินหยวนมากขึ้น
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับความเสี่ยงจากปัญหาเงินทุนไหลออกที่เริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ของจีนในปีนี้ขึ้นจาก 6.3% เป็น 6.5% และปีหน้าขึ้นจาก 6.0% เป็น 6.2% ในรายงาน World Economic Outlook ฉบับเดือน เม.ย. 2016 ซึ่งในรายงานเดียวกันนี้ IMF ได้มีการปรับลดคาดการณ์ GDP ของโลกและเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ลงทั้งหมด การปรับประมาณการดังกล่าวน่าจะช่วยยืนยันว่าเศรษฐกิจจีนกำลังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน และจีนไม่ได้กำลังประสบปัญหาการชะลอตัวอย่างรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวลแต่อย่างใด