ทิสโก้แนะจัดพอร์ตปลายปี รับมือเงินหยวนอ่อนค่า-เฟดขึ้นดอกเบี้ย ชวนเพิ่มน้ำหนัก “หุ้นจีน-เยอรมัน-ญี่ปุ่น” ระบุสตอรี่ยังน่าสนใจ ปัจจัยบวกเพียบ และลดพอร์ต “ทองคำ” มองหลายปัจจัยกดดัน-อุปสงค์อ่อนแอ
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า จากประเด็นหลักที่ส่งผลต่อการลงทุนทั่วโลกในช่วงนี้ ได้แก่ การที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศลดค่าเงินหยวน รวมถึงประเด็นที่นักวิเคราะห์มองว่ามีความน่าจะเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นนั้น จากแนวโน้มดังกล่าว ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ จึงแนะนำกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนช่วงปลายปีนี้ โดยแนะนำให้ใช้โอกาสในช่วงตลาดหุ้นโลกปรับฐาน เข้าลงทุนใน ตลาดหุ้นจีน ตลาดหุ้นเยอรมัน และ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
“ธนาคารกลางจีนประกาศลดค่าเงินหยวนและปรับวิธีการกำหนดค่าเงินให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปฏิรูป เงินหยวนที่อ่อนค่าลงน่าจะส่งผลบวกต่อผู้ส่งออกของจีน และส่งผลลบต่อผู้ส่งออกไปยังจีน รวมถึงกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าที่เป็นคู่แข่งกับจีน และบริษัทในจีนที่มีหนี้ในสกุลดอลลาร์ เรามองว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนต่อจากนี้จะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากทางการจีนยังต้องดูแลปัญหาเงินทุนไหลออก และแนะนำให้ใช้โอกาสในการปรับฐานของตลาด เข้าลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวลงแรง
สำหรับ ตลาดหุ้นจีน เรามองว่าจีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยล่าสุดเมื่อ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินให้แก่ธนาคารพาณิชย์อีก 110 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Medium-term Lending Facility หรือ MLF) ที่สามารถใช้พันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคล้ายกับการทำ LTRO ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เราจึงมองว่า ทั้งความคืบหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะช่วยยกระดับ Valuation โดยปัจจุบัน P/E ของตลาดหุ้นจีน ดัชนี HSCEI อยู่ที่ 7.3 เท่า และ PBV อยู่ที่ 1 เท่า ซึ่งเป็น PBV ระดับเดียวกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 จึงยังคงคำแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) ในตลาดหุ้นจีน
ส่วนประเด็นที่ Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยภายในปี้นี้ เราจึงแนะนำให้ Overweight ใน ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และตลาดหุ้นเยอรมัน โดยคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยนและยูโร ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกำไรของบริษัทส่งออก ซึ่งนับเป็นสัดส่วนใหญ่ของตลาดหุ้นในญี่ปุ่นและเยอรมัน นอกจากนั้นตลาดหุ้นญี่ปุ่นและเยอรมันยังน่าจะได้รับผลกระทบน้อยจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน เนื่องจากมีสัดส่วนของบริษัทในกลุ่มพลังงานน้อย นอกจากนี้หากดู Valuation ตลาดหุ้นญี่ปุ่นและเยอรมัน ก็ยังดูน่าสนใจ โดยดัชนี Nikkei ในปัจจุบันเทรดที่ระดับ Forward P/E ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต ส่วนตลาดหุ้นเยอรมันนี (DAX) ยังมี P/E discount จาก STOXX600 อยู่ราว 15% ซึ่งเป็น Discount ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์”
ทั้งนี้ นายคมศรกล่าวต่อไปว่า สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ได้แก่ ทองคำ ยังคงคำแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) เนื่องจากแนวโน้มการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจัยด้านอุปทานที่ยังคงล้นตลาด “เราคงคำแนะนำ Underweight ทองคำ จาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. มีความเสี่ยงที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า และกดดันราคาทองคำ 2. อุปสงค์ของทองคำทั้งเพื่อการลงทุน และการบริโภคทองคำในอินเดียและจีนมีแนวโน้มลดลง
สำหรับนักลงทุนที่มีพอร์ตทองคำซึ่งปรับตัวขึ้นในช่วงนี้ อาจเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการสวิตช์ไปเข้าตลาดหุ้นทั้ง 3 ตลาดที่เราแนะนำ” นายคมศร กล่าว
คำเตือน
• ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน