ทิสโก้คาดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้น
มอง GDP ปี 2567 โต 2.8%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ชี้ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะฟื้นตัว เพราะปัจจัยลบเรื่องการเบิกจ่ายงบ และอุปสงค์โลกเริ่มคลี่คลาย และได้รับแรงหนุนจากภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัว มอง GDP ปี 2567 ขยายตัว 2.8% พร้อมเปิดปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) (Mr. Methas Rattanasorn Economist, TISCO Economic Strategy Unit ) เปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะฟื้นตัวและหนุนให้ GDP ปี 2567 เติบโต 2.8% หลังปัจจัยกดดันเชิงวัฎจักรได้คลี่คลายลงไป ทั้งการล่าช้าของงบประมาณภาครัฐฯ และการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่ทำให้ภาวะการส่งออกสินค้าหดตัวในปีที่ผ่านมา ขณะที่แรงส่งจากภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวยังคงคาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนและรายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะอยู่ที่ 36 ล้านคน และ 1.6 ล้านล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาและจะมีส่วนช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาวะปกติในช่วงก่อนที่โควิด-19 จะระบาด อีกทั้งจะยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยต่อไปแม้ว่าจะชะลอลงจากปีที่ผ่านมาก็ตาม
ด้านการลงทุนภาคเอกชนศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังช้าและมีความเสี่ยงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อีกทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศที่ยังเหลืออยู่อีกมาก ขณะที่ภาพของอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางเร่งตัวขึ้นจากช่วงก่อน แม้จะแผ่วลงไปบ้างในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนที่หดตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2566 โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้คาดว่าแนวโน้มในระยะข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อจะเป็นบวกต่อเนื่อง และทยอยเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
นายเมธัส กล่าวอีกว่าสำหรับมุมมองนโยบายการเงิน คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 2.50% ในปีนี้ จากเดิมที่มองว่าจะลดได้ 1 ครั้งในช่วงปลายปี เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อกำลังเร่งตัว และปัจจัยกดดันเชิงวัฎจักรได้คลี่คลายลงไปมากแล้ว อีกทั้ง กนง. ก็เน้นย้ำค่อนข้างหนักแน่นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสม เป็นกลาง และไม่ขัดขวางการขยายตัวกลับสู่ระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า รวมถึงยังช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความเสี่ยงในด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
ด้านความเสี่ยงหลักที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐฯ ที่เร่งขึ้นนั้นจะมีเม็ดเงินลงไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง และช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่การท่องเที่ยวเป็นช่วง Low Season ได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ขณะเดียวกัน ภาระหนี้สินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จะกดดันการบริโภคของครัวเรือนไทยมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการเร่งตัวขึ้นของหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SML) ว่าจะเปลี่ยนไปเป็น NPL ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากจนน่าเป็นห่วงหรือไม่ โดยเฉพาะสินเชื่อในกลุ่มรถยนต์ บัตรเครดิต และอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง-ล่าง
นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้า คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จาการค้าโลกที่ฟื้นตัวในระดับที่น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต โดยสาเหตุหลักทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่าเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างของสินค้าส่งออก ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของไทยหลายหมวดที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น กลับเป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล (เครื่องยนต์สันดาป) รถกระบะ ชิ้นส่วนยานยนต์ และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) เป็นต้น ขณะที่สินค้าไทยกลับมีศักยภาพในการแข่งขันลดลง ในกลุ่มสินค้าที่โลกมีความต้องการสูงขึ้น อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า สารกึ่งตัวนำ (Semi-conductor) และ SSD (อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีความทันสมัยกว่า HDD) เป็นต้น นอกจากนี้ ในกลุ่มสินค้าเกษตรหลักของเราอย่าง ข้าว และยางพารา ความสามารถในการแข่งขันก็ลดลงอย่างน่าใจหาย ทำให้เราสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของแรงงานในภาคเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่าปัจจัยข้างต้นเป็นหนึ่งในหลายความเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ขาดการลงทุนเพื่อพัฒนาให้ทันสมัย และมองเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐฯ จำเป็นจะต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยการพลิกฟื้นศักยภาพในด้านการผลิต ควบคู่ไปกับการส่งเสริมในภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Toursim & Wellness) เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมามีศักยภาพการเติบโตที่สูงขึ้นได้อีกครั้ง
แผนภาพที่ 1 : ประมาณการเศรษฐกิจไทย รายปี – มองเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.8% ต่ำลงกว่าประมาณการครั้งก่อนที่ 3.0%