TH EN

เจาะลึก ความต่าง SSF ปกติ SSF พิเศษ ... ซื้ออย่างไรช่วยประหยัดภาษีได้คุ้มสุด

โพสต์เมื่อ 1 เมษายน 2563 | โดย : บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ผู้ลงทุนใน “SSF แบบพิเศษ” สามารถนำเงินที่ลงทุนมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มถึง 2 แสนบาท ก็คงสร้างความดีใจให้กับนักลงทุนหลายๆคน แต่ขณะเดียวกันนักลงทุนอีกส่วนหนึ่ง ก็น่าจะยังสงสัย และมีคำถามในใจอยู่ว่า “SSF แบบพิเศษ” จะต่างกับกองทุน “SSF แบบปกติ”อย่างไร... วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจ ในเรื่องนี้กัน
เปรียบเทียบกองทุนลดหย่อนภาษี

ก่อนที่จะไปสู่เรื่องที่เกริ่นไว้ มาอัพเดทกันก่อนดีกว่า ว่าปัจจุบัน “กองทุนรวม” ที่ใช้สำหรับลดหย่อนภาษีได้นั้น มีแบบไหนบ้าง

1.กองทุนรวมที่ไม่สามารถซื้อลดหย่อนภาษีได้แล้ว

“กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” (Long-Term Equity Fund) หรือ ที่เราเรียกกันสั้นๆว่า “LTF” ถือเป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากมีระยะเวลาถือครองไม่นานนัก (7 ปีปฏิทิน) ประกอบกับ LTF ยังเป็นกองทุนที่เสนอขายต่อเนื่องมายาวนาน จึงทำให้นักลงทุนคุ้นเคยเป็นอย่างดี จนมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร ( Asset Under management : AUM) สูงถึง 3.5 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือน ก.พ. 2563 )

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน เนื่องจากรัฐฯต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมในระยะยาวยิ่งขึ้น จึงมีมติไม่ขยายระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กับนักลงทุนที่มาซื้อ LTF เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุน เข้าไปซื้อในกองทุนประเภทใหม่ ซึ่งก็คือ SSF นั่นเอง

2.กองทุนรวมที่สามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้

“กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” (Retirement Mutual Fund) หรือ “RMF” เป็นกองทุนที่ยังคงสามารถใช้เพื่อลดหย่อนภาษีได้อยู่ และแน่นอนว่า หลายคนรู้จักกองทุนนี้เป็นอย่างดี ไม่แพ้กองทุน LTF

ส่วน “กองทุนรวมเพื่อการออม” (Super Savings Fund) หรือ “SSF” นั้น ถือเป็นกองทุนน้องใหม่ ที่รัฐฯหวังว่า จะช่วยให้เกิดการออมในระยะยาวมากขึ้น และสามารถลงทุนเพื่อช่วยลดหย่อนภาษีได้ 

แม้ SSF จะเป็นกองทุนน้องใหม่ ที่ดูมีความน่าสนใจ แต่ก่อนจะซื้อกองทุน เราอยากให้คุณลองสำรวจใจตัวเองอีกนิดว่า คุณกำลังสนใจ “SSF แบบปกติ” หรือ “SSF แบบพิเศษ” กันแน่ …ว่าแต่กองทุน SSF สองแบบนี้ ต่างกันอย่างไรบ้าง ?

“SSF แบบปกติ” มีลักษณะดังนี้

  • ช่วงเวลาลงทุน : ปี 2563-2567 
  • เงื่อนไขการลงทุน : 1.ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (นับรวมกับกองเกษียณอายุอื่นๆ ไม่เกิน 500,000 บาท) 2.เริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2563-2567 และต้องลงทุนอย่างน้อย 10ปี
  • ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท 
  • ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

“SSF แบบพิเศษ” มีลักษณะดังนี้

  • ช่วงเวลาลงทุน : 1 เม.ย.- 30 มิ.ย. 2563
  • เงื่อนไขการลงทุน : ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 200,000 บาท (ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินได้ และไม่นับรวมกับกองเกษียณอายุอื่นๆ)
  • ลงทุนได้เฉพาะช่วง 1 เม.ย.- 30 มิ.ย. 2563 เท่านั้น และต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
  • ลงทุนหุ้นไทย ไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV
  • ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี

สำหรับคนที่ยังนึกภาพไม่ออก เราได้ลองยกตัวอย่าง “เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี (“เงินได้”)” ให้เห็น 3 รูปแบบ ให้ลองพิจารณาดังนี้ค่ะ

กรณีรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี 700,000 บาท
  • ลงทุน SSF พิเศษ (สูงสุด 200,000 บาท)  : 200,000 บาท
  • ลงทุน SSF ปกติ (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท) : 200,000 บาท
  • ลงทุน PVD หรือกองทุนเกษียณอื่นๆ (สูงสุด 15% ของค่าจ้าง) : 105,000 บาท
  • ลงทุน RMF (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท) : 195,000 บาท
  • ✔ รวมได้สิทธิลดหย่อนกลุ่มเกษียณ 500,000 บาท และหากรวมกับ SSF แบบพิเศษ จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 700,000 บาท
กรณีรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี 1,000,000 บาท
  • ลงทุน SSF พิเศษ (สูงสุด 200,000 บาท) : 200,000 บาท
  • ลงทุน SSF ปกติ (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท) : 200,000 บาท
  • ลงทุน PVD หรือกองทุนเกษียณอื่นๆ (สูงสุด 15% ของค่าจ้าง) : 150,000 บาท
  • ลงทุน RMF (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท) : 150,000 บาท
  • ✔ รวมได้สิทธิลดหย่อนกลุ่มเกษียณ 500,000 บาท และหากรวมกับ SSF แบบพิเศษ จะลดหย่อนได้ถึง 700,000 บาท
กรณีรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี 1,500,000 บาท
  • ลงทุน SSF พิเศษ (สูงสุด 200,000 บาท) : 200,000 บาท
  • ลงทุน SSF ปกติ (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท) : 200,000 บาท
  • ลงทุน PVD หรือกองทุนเกษียณอื่นๆ (สูงสุด 15% ของค่าจ้าง) : 225,000 บาท
  • ลงทุน RMF (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท) : 75,000 บาท
  • ✔ รวมได้สิทธิลดหย่อนกลุ่มเกษียณ 500,000 บาท และหากรวมกับ SSF แบบพิเศษ จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 700,000 บาท

**ข้อมูลข้างต้น เป็นการยกตัวอย่างเท่านั้น ตามตัวอย่างนี้ผู้ลงทุนไม่ได้ใช้สิทธิในการซื้อประกันบำนาญ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุนรวม SSF ก่อนตัดสินใจลงทุน*

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจอยากรู้ต่อไปอีกว่า แล้วถ้าเทียบระหว่างการซื้อ SSF กับการลงทุน RMF ล่ะ ควรจะลงทุนอะไรดีกว่ากัน

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ แนะนำว่า ประเด็นนี้ให้นักลงทุนโฟกัสไปที่ “วัตถุประสงค์และความต่อเนื่อง” ของการลงทุนเป็นหลัก

  • เน้นการออมแต่ไม่ต่อเนื่อง : ให้เลือก SSF เพราะจะช่วยให้คุณสามารถเก็บเงินระยะยาวได้ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี สามารถเลือกลงทุนในปีที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนได้
  • เน้นลงทุนต่อเนื่องเพื่อการเกษียณ : ให้เลือก RMF เพราะมีนโยบายกองทุนให้เลือกอย่างหลากหลาย ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้สำหรับบริหารความเสี่ยงให้ตรงกับสไตล์ของแต่ละคนได้ และต้องลงทุนต่อเนื่องเพื่อเก็บออมเป็นเงินก้อนโตไว้ใช้ยามเกษียณได้ด้วย

ข้อมูลทั้งหมดนี้ น่าจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้นแล้วว่า ควรลงทุน SSF หรือไม่...และ SSF แบบไหนที่เหมาะกับคุณ

ที่มา : https://www.tisco.co.th/th/advisory/ssf-vs-ssfx.html

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน