กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เดินทางมาเยือนประเทศไทยในช่วงเดือน พ. ย. ที่ผ่านมาเพื่อประเมินภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทยประจําปีตามที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกกองทุน IMF โดยได้มีการหารือกับหน่วยงานรัฐบาลของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในภาคเศรษฐกิจจริง เพื่อรวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ให้เป็นไปอย่างครบถ้วน
สำหรับภาพในระยะสั้น IMF ได้การประเมินเศรษฐกิจไทยว่ากำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยขับเคลื่อนจากกลับมาเป็นปกติของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่กำลังกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด ถึงแม้ว่าในช่วงแรกของปีนี้การใช้จ่ายลงทุนของรัฐบาลจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ แต่ยังไม่ได้มากนักจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบ โดยที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตในระดับ 2.7% และในปี 2568 คาดว่าจะเติบโตที่ 2.9% ซึ่งเป็นผลบวกมาจากการกลับมาใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเป็นปกติ และการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจากระดับปัจจุบันจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองระยะยาว IMF มองว่าในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้แล้วนั้น ประเทศไทยควรเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เนื่องจากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในภาพใหญ่ในระยะหลังหลังถือว่าชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่ถดถอยลงไป รวมถึงการเพิ่มวินัยทางการเงินผ่านการลดขนาดการขาดดุลการคลังเพื่อลดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP และเพื่อเตรียมพื้นที่นโยบายให้กับการดูแลปัญหาสังคมสูงวัยและปฏิรูปการคุ้มครองทางสังคม ที่จะทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างทั่วถึงและยั่งยืนในระยะยาว
จะเห็นได้ว่าแม้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะดูดีในระยะสั้น แต่การเติบโตกลับไปอยู่เหนือระดับ 3% เทียบกับช่วงก่อนโควิดนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายหากปราศจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความสามารถในการหารายได้ของภาคเอกชนและประชาชน จะสังเกตได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วต่างถูกขับเคลื่อนจากความสามารถของภาคเอกชนเป็นหลักมากกว่าภาครัฐ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะนำไปสู่การลดภาระทางการคลังของรัฐบาลไปได้ในตัวในลำดับถัดไปจากการจัดเก็บภาษีในระบบที่มากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ลดลงในการช่วยเหลือ
ประชาชนในด้านต่างๆ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ในการพาเศรษฐกิจไทยให้กลับไปอยู่ในระดับศักยภาพที่ควรจะเป็นของประเทศไทย สร้างความสามารถในการแข่งขันภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง