TH EN

เปิดวิธีรับมือ !! เมื่อรายได้ลด แต่รายจ่ายเท่าเดิม

                            

โพสต์เมื่อ 22 สิงหาคม 2567 | บทความโดย : TISCO

       
มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้รายได้ที่เคยรับของเราลดลง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนรายรับลดลงอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่ในทางกลับกันนั้น รายจ่ายของเราก็ยังคงเหมือนเดิม ทั้งหนี้สินที่มีอยู่ และค่าใช้จ่ายส่วนตัวในแต่ละเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่ากิน ค่าอยู่ ฯลฯ เราจะจัดการเงินของเราในช่วงเวลาแบบนี้ได้ยังไง 
 
   
        
           การวางแผนการใช้เงินด้วยการทำ "บัญชีรายรับ-รายจ่าย" จะทำให้เราสามารถจัดสรรเงินให้พอใช้ในแต่ละเดือนได้ โดยจะต้องทำอย่างจริงจัง บันทึกทุกรายการทั้งรายรับ และรายจ่าย เพื่อดูว่าเรามีรายรับ และรายจ่ายมากน้อยแค่ไหน และรายรับเพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งแผนการใช้เงินที่ดีจะต้องมีรายรับมากกว่า หรือเท่ากับรายจ่าย เมื่อเราทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแล้ว เราจะต้องใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ ถ้าส่วนไหนใช้เกิน ก็ให้ลดรายจ่ายส่วนอื่นลง เพื่อไม่ให้รายจ่ายมากเกินรายรับ ซึ่งหากมีเวลา เราสามารถทำแผนการใช้เงินล่วงหน้าสัก 3 เดือนเพื่อรองรับเหตุการณ์ในอนาคต 
 
 
 
 
          เมื่อเราทำ "บัญชีรายรับ-รายจ่าย" แล้วเราจะพบว่า รายจ่ายมากกว่ารายรับ คราวนี้ก็จะต้องถึงเวลาทำใจด้วยการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งในรายการที่จะต้องตัดออกนั้นจะต้องเป็นรายจ่ายที่ไม่กระทบต่อการดำรงชีวิต แต่อาจส่งผลทำให้เรามีความสุขน้อยลง ซึ่งรายจ่ายประเภทนี้สามารถทยอยลด หรือตัดออกได้ ซึ่งรายจ่ายของเราสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ 
 
            แบบที่ 1: รายจ่ายจำเป็น เป็นรายจ่ายที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ถ้าไม่จ่ายอาจกระทบถึงสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต เช่น อาหาร ยารักษาโรค รายจ่ายประเภทนี้ตัดไม่ได้แต่หาทางเลือกเพื่อลดรายจ่ายได้ เช่น แทนที่จะกินอาหารมื้อหรู ก็เลือกกินอาหารราคาธรรมดาที่มีสารอาหารครบ 
 
            แบบที่ 2: รายจ่ายไม่จำเป็น เป็นรายจ่ายที่ไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตหากไม่จ่าย แต่อาจทำให้มีความสุขน้อยลง รายจ่ายประเภทนี้สามารถทยอยลดหรือตัดออกได้ เช่น ลดค่ากาแฟ เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกซื้อหวย
            หลังจากนั้น เราก็นำ “แผนใช้เงิน” มาดูว่ามีรายจ่ายไหนไม่จำเป็น หรือรายจ่ายจำเป็นไหนที่สูงเกินไป แล้วเลือก ลด หรือตัดออก
 

 

 

         จากการทำ "บัญชีรายรับ-รายจ่าย" ถ้ารายรับไม่พอกับรายจ่าย การเริ่มจากการลดหรือตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่บางคนลดแล้วตัดแล้ว ก็ยังไม่พอจ่ายหนี้ที่มีอยู่ เราก็จะต้องเริ่มต้นจัดการภาระหนี้ของเรา ดังนี้
            1) จดรายการหนี้ทั้งหมดที่มี เพื่อให้ทราบว่า เรามีหนี้อะไรบ้าง อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ และกำหนดจ่ายเมื่อไหร่
            2) ตรวจสอบรายการหนี้ทั้งหมด ภาระหนี้ที่มีเข้าเกณฑ์การช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของภาครัฐหรือไม่ หากใช่ ให้ติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อขอเข้าร่วมมาตรการ
            3) กรณีได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการแล้ว แต่เงินที่มี ก็ยังไม่พอจ่ายหนี้ หรือไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ ให้ทำหนังสือไปยังสำนักงานใหญ่ของเจ้าหนี้เพื่อขอความอนุเคราะห์ลดจำนวนเงินผ่อนต่อเดือนหรือขยายระยะเวลาการผ่อน โดยระบุจำนวนเงินที่สามารถผ่อนได้หรือระยะเวลาที่ต้องการขยายให้ชัดเจน พร้อมทั้งระบุความจำเป็นที่ต้องขอความอนุเคราะห์ เพื่อให้สถาบันการเงินพิจารณา เมื่อสถาบันการเงินพิจารณาและมีหนังสือตอบกลับ ควรอ่านเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ย และจำนวนที่ต้องผ่อนชำระ รวมไปถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนลงนามตกลง
 
 

 

 
           การหารายได้เพิ่ม สำหรับคนที่รายรับลดลงถือเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน เบื้องต้นสำหรับใครที่ยังคิดไม่ออกว่าจะหารายได้เพิ่มได้ยังไง จะต้องเริ่มอย่างไร อาจจะต้องลองขายของที่เรามีอยู่หรือของที่ไม่ได้ใช้แล้ว เช่น ของเก่าในบ้าน ของสะสม เสื้อผ้า หรือของใช้ส่วนตัว ที่เกินความจำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับเราแล้ว เพื่อเอารายได้ส่วนนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายหรือช่วยลดภาระหนี้ของเรา และหากลำบากจริง ๆ ก็อาจจะต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ พอเริ่มมีรายได้ ค่อยเก็บเงินซื้อใหม่ 
 
 

 

            ในปัจจุบันมีมาตรการช่วยเหลือจากทางหน่วยงานรัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง ลองหาข้อมูลและตรวจสอบสวัสดิการที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือในส่วนของประกันสังคม หรือมาตรการต่างๆ ที่ออกมาในช่วงนี้ เพื่อดูว่าเรามีสิทธิ์หรือเข้าเกณฑ์ตามมาตรการความช่วยเหลือเหล่านั้นหรือไม่ ถ้าเรามีสิทธิ์หรือมีคุณสมบัติเข้าตามเกณฑ์การรับความช่วยเหลือก็ให้ติดต่อหน่วยงานนั้นๆ เพื่อขอรับสิทธิ์ความช่วยเหลือนั้น 

 

 


 

ติดตามข้อมูลข่าวสาร TISCO ช่องทางอื่น ๆ ได้แล้ววันนี้!
⭐ Facebook > https://www.facebook.com/TISCOFinancialGroup
⭐ LINE > https://lin.ee/1NQ6yvI
⭐ Twitter > https://twitter.com/TISCOAdvisory
⭐ Instagram > https://instagram.com/tisco_official
⭐ Youtube > https://www.youtube.com/@TISCOGroup
⭐ Website > www.tisco.co.th

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน