ความรับผิดชอบต่อสังคม

กลุ่มทิสโก้ตระหนักถึงความรับผิดชอบและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สังคมอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โดยมีส่วนร่วมสนับสนุนและช่วยเหลือสังคม รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสให้สามารถพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ พร้อมส่งมอบคุณค่าแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระยะยาว  ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในกระบวนการ (in process) และนอกเหนือกระบวนการ (after process) ทางธุรกิจ รวมถึงการสนับสนุนผ่านกิจการเพื่อสังคม (as process) ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสแบบเต็มเวลา โดยกลุ่มทิสโก้เป็นผู้สนับสนุนหลัก และมีพนักงานจิตอาสาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรม ดังนี้

1. การให้ความรู้ทางการเงิน

กลุ่มลูกค้ารายย่อย

1.1 รู้ไว้เข้าใจหนี้

กิจกรรมให้ความรู้แก่ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยและประชาชนที่สนใจผลิตภัณฑ์เงินกู้ ซึ่งพัฒนามาจากโปรแกรมรู้ทันภัยการเงินตั้งแต่ปี 2562 และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ได้จัดทำสรุปความรู้ชุดที่ 4 เกี่ยวกับหนี้ในหัวข้อ “รู้หรือไม่ สินเชื่อแต่ละประเภทคำนวณดอกเบี้ยไม่เหมือนกัน” เพื่อสร้างความเข้าใจถึงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยทั้งแบบคงที่ (Flat Rate) และแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) รวมถึงเทคนิคการปลดหนี้แบบถูกวิธี โดยเจ้าหน้าที่การตลาดประจำสาขาเป็นผู้ให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัว  และยังจัดทำในรูปแบบออนไลน์  เผยแพร่ผ่านทางไลน์ เฟสบุค เว็บไซต์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย  โดยในปี 2566 มีผู้ร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 149,922 คน 

 

 

1.2 ฉลาดเก็บฉลาดใช้

กิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่รอบสาขาทั่วประเทศ  โดยจัดทำหลักสูตรการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเบื้องต้นระยะสั้น  มีเนื้อหาหลัก 3 หัวข้อ ได้แก่ ออมก่อนใช้ การจัดการหนี้ ภัยและความเสี่ยงด้านการเงิน  มีการกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยการร่วมสนุกตอบคำถาม รับของที่ระลึก เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้และมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ โดยในปี 2566 กลุ่มทิสโก้ได้ลงนามความร่วมมือกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อส่งเสริมการออมและให้ความรู้การเงินแก่คนไทย มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ในเชิงรูปธรรมทั้งในด้านการสร้างค่านิยมทางการเงินที่เหมาะสม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมการเงินในเชิงบวก จัดกิจกรรมในพื้นที่ 69 ครั้ง ใน 29 จังหวัด มีผู้ร่วมกิจกรรม 5,621 คน 

 

 

1.3 การให้ความรู้ทางการเงินแก่ชุมชนและสังคม

กลุ่มทิสโก้เชื่อว่าโอกาสสร้างได้ และการสร้าง “อนาคตที่ยั่งยืน” เริ่มต้นจากการวางแผนทางการเงินที่ดี จึงเดินหน้าสนับสนุนและถ่ายทอดความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายคืออยากเห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และอยู่ได้อย่างมั่นคงในสังคม โดยไม่มีปัจจัยปัญหาทางการเงินมาทำให้ชีวิตต้องกระเบียดกระเสียร ซึ่งนั่นย่อมสะท้อนถึงความยั่งยืนของสังคมไทย

ในปี 2566 กลุ่มทิสโก้ได้ลงนามความร่วมมือกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อส่งเสริมการออมและให้ความรู้การเงินแก่คนไทย มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ในเชิงรูปธรรมทั้งในด้านการสร้างค่านิยมทางการเงินที่เหมาะสม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมการเงินในเชิงบวก รวมไปถึงการเพิ่มบัญชีเงินออมระยะยาวในกองทุน กอช. ให้มากขึ้น โดยทิสโก้ ถือเป็นสถาบันการเงินจากภาคเอกชนรายแรก ที่จับมือกับ กอช. และมีความเชื่อว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้ สร้างแรงกระเพื่อมให้คนไทยหันมาใส่ใจวางแผนการเงินมาก และสามารถขยายองค์ความรู้สู่ประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะดำเนินกิจกรรมผ่านโครงการของกลุ่มทิสโก้ที่จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ

 

 

กลุ่มคนรุ่นใหม่

1.4 ค่ายการเงินสมหวังสร้างโอกาส

กิจกรรมให้ความรู้การเงินแก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน เพื่อสร้างทักษะการวางแผนด้านการเงินที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในบริหารจัดการการเงินได้อย่างถูกต้องเหมาะสม พร้อมมอบประสบการณ์ฝึกงานในธุรกิจสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ (Micro Finance) ร่วมเรียนรู้ ฝึกฝน ค้นหาอาชีพ ที่เหมาะสมกับตนเอง และเปิดโอกาสให้สมัครเข้าร่วมทำงานกับ “สมหวัง เงินสั่งได้” ของบริษัท ไฮเวย์ จำกัด  ประจำสาขาใกล้บ้าน ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างผู้ให้บริการสินเชื่อมืออาชีพที่จะเป็นกำลังสำคัญของบริษัทในอนาคตแล้ว ยังเป็นการสร้างผู้ถ่ายทอดความรู้ทางการเงินไปยังคนในชุมชน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งควบคู่กันไป สำหรับปี 2566 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 126 คน โดยตั้งแต่รุ่นที่ 1 ที่เป็นกลุ่มนำร่องรุ่นแรกในปี 2565 จนถึงรุ่นที่ 2-3 ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งจัดขึ้นในปี 2566 นั้นน มีสัดส่วนการรับผู้อบรมเข้าทำงานสูงถึง 60% 

"มุมมองในด้านการเงินเปลี่ยนไปเยอะมากจากค่ายนี้เลยครับ จากที่หามาแล้วใช้ไป ไม่ได้มีการจัดสรร ก็มีการวางแผนมากขึ้นและยังได้รับโอกาสให้เข้ามาร่วมงานเป็นพนักงาน สมหวัง เงินสั่งได้”

คุณเอ็กซ์ สาธิต ผู้ร่วมกิจกรรมรุ่นที่ 1

"เป็นค่ายที่ควรมีรุ่นต่อ ๆ ไปอีกเรื่อย ๆ เพราะเป็นการเข้าค่ายที่ให้โอกาสคนที่กำลังหางาน หรือให้โอกาสเด็กจบใหม่ได้มีงานทำ ประทับใจในหลาย ๆ อย่างที่พี่ ๆ มอบให้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้การวางแผนการเงินต่าง ๆ ได้เจอเพื่อนต่างถิ่น ชีวิตของเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากจากค่ายนี้เลยค่ะ”

คุณเบลล์ พรนภา ผู้ร่วมกิจกรรมรุ่นที่ 1 

"เป็นการอบรมที่อัดแน่นไปด้วยความรู้เรื่องเงิน ทำให้ได้เปิดโอกาสโลกทางการเงินในหลาย ๆ เรื่อง แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นการอบรม แต่เป็นการอบรมที่สนุก ตอนนี้ได้รับโอกาสเข้าร่วมงานกับสมหวัง เงินสั่งได้ สิ่งที่สัมผัสได้ไม่ว่าจะเป็นตอนอยู่ค่าย ฝึกงาน หรือการทำงานจริง ทุกอย่างยังคงดี ไม่เปลี่ยนแปลง”

คุณมีน พงษ์ทักษิณ ผู้ร่วมกิจกรรมรุ่นที่ 2 

กลุ่มเยาวชน

1.5 ชมรมเครือข่ายค่ายการเงินทิสโก้

 

กลุ่มทิสโก้ยังคงมุ่งมั่นสานต่อเจตนารมณ์ด้วยการสนับสนุนโรงเรียนที่เคยผ่านกิจกรรมค่ายการเงินเยาวชนของทิสโก้ ร่วมส่งต่อความรู้สู่ชุมชน เพื่อสร้างความต่อเนื่อง โดยเชิญชวนโรงเรียนร่วมจัดตั้งชมรม/ชุมนุมวางแผนการเงิน ทำหน้าที่รณรงค์สร้างวินัยทางการเงิน กระตุ้นให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการเก็บออม การบันทึกบัญชีรับจ่าย เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้ทุกคนทุกครอบครัวรอดพ้นจากวิกฤติต่าง ๆ โดยในปี 2566 มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วม 20 แห่ง ใน 15 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับประโยชน์จากการเผยแพร่รวม 57,450 ราย 

โดยในปี 2566 กลุ่มทิสโก้ได้ลงนามความร่วมมือกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อส่งเสริมการออมและให้ความรู้การเงินแก่คนไทย มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ในเชิงรูปธรรมทั้งในด้านการสร้างค่านิยมทางการเงินที่เหมาะสม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมการเงินในเชิงบวก รวมไปถึงการเพิ่มบัญชีเงินออมระยะยาวในกองทุน กอช. มากขึ้น ซึ่งจะดำเนินกิจกรรมผ่านโครงการของกลุ่มทิสโก้ที่จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ โดยเริ่มที่กิจกรรมของชมรมเครือข่ายค่ายการเงินธนาคารทิสโก้ ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค และ กิจกรรมฉลาดเก็บ ฉลาดใช้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สาขาธนาคารทิสโก้และสมหวัง เงินสั่งได้ร่วมกันออกไปให้ความรู้แก่ลูกค้าและประชาชนในชุมชนพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ยังมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้การเงินแก่กลุ่มลูกค้าอื่น ๆ  ทั้งกลุ่มลูกค้าบรรษัท  กลุ่มลูกค้าธนบดี กลุ่มลูกค้ากองทุน ตลอดจนกลุ่มพนักงาน รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยบริษัทในกลุ่มทิสโก้ ได้คัดเลือกหัวข้อที่สำคัญ สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนการเงิน แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ

2. เครือข่ายธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชน

กลุ่มทิสโก้ให้การสนับสนุนสินค้าและบริการที่ผลิตและจำหน่ายโดยชุมชน หรือสั่งซื้อจากกิจการหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่นำกำไรไปหมุนเวียนคืนสู่ชุมชน ในฐานะเครือข่ายธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชน (Community-Friendly Business) ซึ่งกลุ่มทิสโก้ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง และเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาเป็นผู้ส่งมอบในห่วงโซ่อุปทาน ไม่เพียงเป็นผู้รับมอบความช่วยเหลือ โดยนำมาใช้ในการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ เป็นประจำ โดยในปี 2566 ได้แก่ ไข่ไก่ออร์แกนิกจากแทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม กลุ่มเกษตรกร จ.นครปฐม  ตงศิริฟาร์ม ฟาร์มเกษตรแบบผสมผสาน จ.สุพรรณบุรี  บจก. บีอินดี้ คันทรี กรุ๊ป   บจก. ออแกนิคส์ แอนด์ คอมมูนิตี้ เป็นต้น

กลุ่มทิสโก้สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสทางศึกษา เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของประชากร อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน  โดยสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนผ่านมูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล และจัดสรรทุนพัฒนาสถานศึกษา โดยจัดสร้าง ปรับปรุงอาคาร และจัดหาครุภัณฑ์ให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ ในรูปแบบโครงการ “ทิสโก้ร่วมใจ” เป็นโครงการประจำปี ปีละ 1 โครงการ  เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนในชุมชนส่งบุตรหลานเข้าเรียนตามวัย  โดยกลุ่มทิสโก้เป็นผู้สนับสนุนหลัก ร่วมกับผู้บริหาร พนักงาน ผู้มีจิตศรัทธา และได้รับสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ด้วย  

โดยในปี 2566 ได้ดำเนินโครงการ “ทิสโก้ร่วมใจ 13” จัดสร้างอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนวัดโนนสะเดา หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพด้านการเรียนการสอน ซึ่งสภาพอาคารเรียนเดิม จำนวน 2 หลัง มีสภาพทรุดโทรมมาก โครงสร้างเสียหาย พื้นผนังผุพัง ไม่ปลอดภัย และน้ำท่วมขัง ประกอบกับข้อมูลการควบรวมนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ตามนโยบายภาครัฐในปีการศึกษา 2567  จึงจัดสร้างอาคารเรียน 2 ชั้น 8 ห้องเรียน  เริ่มก่อสร้างในเดือนสิงหาคม 2566 มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2567 มูลค่ารวม 5,549,000 บาท 

4. สนับสนุนด้านสาธารณสุข และอื่นๆ

4.1 สนับสนุนงานวิจัยนวัตกรรมรักษาโรคมะเร็ง :

กลุ่มทิสโก้ตระหนักดีว่า มะเร็งเป็นเรื่องใกล้ตัว จึงจัดตั้งโครงการ Fighting Cancer ขึ้น เพื่อร่วมส่งต่อโอกาสให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วยการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาด มานับตั้งแต่ปี 2558  ด้วยการมอบรายได้ส่วนหนึ่งจากค่าธรรมเนียมการขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ให้แก่ กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ โรงพยาบาลรามาธิบดี

โดยในปี 2566 นี้ ได้บริจาคเงินรวมทั้งสิ้น 3,000,000 บาท อีกทั้งยังได้ขยายการมีส่วนร่วมออกไปในวงที่กว้างขึ้น โดยร่วมกับพันธมิตร ลูกค้า และพนักงาน ที่มีเจตนารมณ์เดียวกันร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งหลังรับการรักษาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ผ่าน 3 กิจกรรม ได้แก่

4.1.1 Cut & Care บริจาคเส้นผมเพื่อผลิตวิกผมแท้ส่งมอบให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยกลุ่มทิสโก้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายและได้เชิญชวนพันธมิตรทางธุรกิจ ร้าน Kiki Beauty Space ร่วมสนับสนุนให้บริการตัดผมฟรีแก่พนักงานจิตอาสาอีกด้วย

4.1.2 เย็บเต้ารวมใจ สู้ภัยมะเร็งเต้านม กิจกรรมเย็บเต้านมเทียมจำนวน 200 ชิ้น โดยพนักงานจิตอาสาของกลุ่มทิสโก้เพื่อส่งมอบให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ผู้ริเริ่มโครงการ “Sewing Cup Sewing Heart เย็บเต้ารวมใจ สู้ภัยมะเร็งเต้านม” ในการส่งมอบอุปกรณ์พร้อมสอนวิธีการเย็บเต้านมเทียมที่ถูกต้อง

4.1.3 ทอรัก ถักหมวก กิจกรรมถักหมวกไหมโดยพนักงานจิตอาสาของกลุ่มทิสโก้ เพื่อสร้างความสุขและร้อยยิ้ม พร้อมเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งหลังจากได้รับการรักษา

 

4.2 บริจาคโลหิต :

กลุ่มทิสโก้ร่วมกับสภากาชาดไทยจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมประจำไตรมาส ที่สำนักงานใหญ่ ถนนสาทรเหนือ และสำนักงานอาคารภคินท์ ถนนรัชดาภิเษก รวมถึงกิจกรรมในสาขาต่างจังหวัดอีกด้วย  โดยตั้งเป้ารณรงค์ให้ได้ปริมาณโลหิตไม่น้อยกว่า 1,000,000 ซีซีต่อปี โดยในปี 2566 ได้ปริมาณโลหิต 1,029,200 ซีซี นำไปช่วยเหลือผู้ที่ต้องการโลหิตได้ถึง 7,719 ราย จากกิจกรรม 16 ครั้ง ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ตรัง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และสงขลา

4.3 กิจกรรมบรรเทาทุกข์ “สมหวังฯ ยังชีพ” :

ในช่วงปลายปี 2566 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเผชิญน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี จากปริมาณฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม รุนแรงใน จ.นราธิวาส จ.ยะลา และบางส่วนของ จ.ปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่ สาขาได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อนำน้ำดื่มไปมอบให้ แก่ประชาชนผู้ประสบภัย

นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ยังให้การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับองค์กรพันธมิตรในด้านอื่น ๆ เช่น สนับสนุนการดำเนินงานมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย  มูลนิธิคนพิการไทย  มูลนิธิชัยพัฒนา  มูลนิธิสวนหลวง ร.9  มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว  มูลนิธิอานันทมหิดล  สมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย  เป็นต้น

5. มูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล

กลุ่มทิสโก้จัดตั้ง “มูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล” ขึ้นในปี 2525  เป็นองค์กรที่ไม่แสวงกำไร ทำหน้าที่ช่วยเหลือและพัฒนาสังคมแบบเต็มเวลาควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ มีวัตถุประสงค์ 3 ด้าน คือ สนับสนุนทุนการศึกษา ทุนรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยอนาถาผู้ทุพพลภาพ และทุนประกอบอาชีพแก่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์  โดยกลุ่มทิสโก้เป็นผู้สนับสนุนหลัก ร่วมกับผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนลูกค้า และประชาชน ใบเสร็จรับเงินของมูลนิธิทิสโก้ฯ นำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามประกาศของกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 135 โดยมี รายละเอียดซึ่งเป็นตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ ดัังนี้

ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tiscofoundation.org

 

กลุ่มทิสโก้ส่งมอบคุณค่าสู่สังคม รวมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนและสังคม ผ่านการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การปันผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น สวัสดิการพนักงาน การพัฒนาบุคลากร การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ฯลฯ โดยมีผลต่อการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ตลอดปี 2566 สรุปภาพรวมไว้ได้ดังนี้

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน