TH EN

ก้าวสู่ยุค Megatrends Allocation

โพสต์เมื่อ 5 สิงหาคม 2563 | บทความโดย : ศิวกร ทองหล่อ AFPTTM Wealth Manager

คุณยังจัดพอร์ตลงทุนแบบ “Asset Allocation” อยู่หรือเปล่า ? นี่เป็นแนวคิด “พื้นฐาน” สำหรับการลงทุนที่ดี แต่ดูเหมือนว่า การกระจายการลงทุนแบบ “ดั้งเดิม” นี้ อาจไม่มีประสิทธิภาพในการลงทุนเพียงพอ หรือ อธิบายง่ายๆว่า อาจจะไม่ได้สร้างผลตอบแทนดีอย่างที่คาดหวังสำหรับทุกสถานการณ์ … ถึงเวลาแล้ว ที่คุณจะต้องทำความรู้จักกับการจัดพอร์ตลงทุนแบบ “Megatrends Allocation”

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่เกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง -7.13% (อ้างอิงจากดัชนี MSCI All Country World Index) สอดคล้องกับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจปี 2020 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ซึ่งระบุว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โลกอาจติดลบถึง -4.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

  นั่นก็เป็นเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ถูกจำกัดอย่างมาก ทั้งในด้านการค้าขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศที่ถูกระงับ การเดินทางเพื่อธุรกิจหรือเพื่อท่องเที่ยวที่ต้องปิดทำการ จนส่งผลกระทบไปยังกลุ่ม “ธนาคารพาณิชย์” เนื่องจากลูกหนี้เกิดความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น รวมถึง “กลุ่มพลังงาน” ที่ความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพื่อการผลิตหรือการเดินทางลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

  โดยในอดีตธุรกิจ “ธนาคารพาณิชย์” และ “กลุ่มพลังงาน” ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก แต่ก็ยังมีจุดอ่อนคือการพึ่งพาวงจรเศรษฐกิจมากเกินไป ดังนั้นเมื่อธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ได้รับผลกระทบ ผู้ลงทุนในกองทุนรวม ที่พยายามจัดพอร์ตการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ก็อาจได้รับความเสี่ยงเช่นกัน

Asset Allocation VS Megatrends Allocation

การเลือกกองทุนที่อ้างอิงดัชนี (Index fund) เพียงอย่างเดียวนั้น มีจุดที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจว่า ในหลายประเทศนั้น มักจะมีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ว่า แม้จะมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการ จัดพอร์ตลงทุนแบบ “Asset Allocation” ไปกี่ประเทศ ก็อาจประสบผลขาดทุนจากการลงทุนไม่มากก็น้อย ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก

อย่างไรก็ตาม กลับมีธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์จาก Megatrends เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือสังคมผู้สูงอายุที่ยังคงมีบทบาท และได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อประเมินจากผลตอบแทนครึ่งปีแรกของหุ้นกลุ่มนี้ พบว่าสวนทางกับกลุ่มธุรกิจข้างต้นที่กล่าวมา เพราะสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหายามที่เจอสถานการณ์โรคระบาดนี้ได้ 

ยกตัวอย่างเช่น

  1. กลุ่มธุรกิจ E-commerce ที่ช่วยลดการเดินทางไปยังร้านค้า ทำให้ร้านค้ายังคงมีรายได้ในการทำธุรกิจ ซึ่งราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้น +36.82%
  2.  ธุรกิจ Digital Healthcare โดยการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ มาสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาวัคซีน COVID-19 ให้ผลตอบแทน +28.77% 
  3. ธุรกิจพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอย่าง Cloud Computing ก็เพิ่มขึ้น +36.08% ซึ่งได้ประโยชน์จากการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การใช้ชีวิต การเรียน หรือการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ของประชาชนทั่วไปหรือระดับองค์กร

อันที่จริงแล้วกลุ่มธุรกิจเหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็วก่อนหน้าสถานการณ์ COVID-19 อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับ Megatrends เช่น ธุรกิจ E-Commerce ที่สามารถนำเสนอและขายสินค้าหรือบริการอย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุนในการทำธุรกิจ ธุรกิจ Digital Healthcare สามารถวิจัยและพัฒนายารักษาโรคที่ซับซ้อนหรือโรคร้ายแรงมักเกิดกับผู้สูงอายุ 

และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี Cloud Computing ที่สามารถพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิต ด้านธุรกิจงานบริการ หรือแม้กระทั่งด้านการศึกษาที่ช่วยให้สามารถพัฒนารูปแบบการศึกษาใหม่ๆ แก่วัยเรียนและสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ล้ำค่าและพัฒนาประเทศได้ในอนาคต ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์แนวโน้มในอนาคตอย่าง Megatrends ผนวกกับได้อานิสงส์จากสถานการณ์โรคระบาดยิ่งเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

เจาะลึกปัญหา… “กระจายความเสี่ยงหลายประเทศทำไมยังขาดทุน?”

ในช่วงที่ผ่านมา การจัด Portfolio แบบ “Asset Allocation” ที่มีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว มักไม่ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจ Megatrends เท่าที่ควร เนื่องจากมองว่ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับ Megatrends นั้น มักเป็นลักษณะ Thematic Fund หรือ Sector Fund ซึ่งมีการลงทุนแบบกระจุกตัว อาจต้องคอยติดตามข่าวสารของอุตสาหกรรมนี้เป็นพิเศษ และจำเป็นต้องมีการปรับสัดส่วนการลงทุนบ่อยครั้ง ทำให้พิจารณาไปว่าธุรกิจแบบ Megatrends ไม่สามารถลงทุนระยะยาวได้ … แต่ทั้งหมดนี้อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน !!!

นั่นก็เป็นเพราะ ในความเป็นจริงแล้ว Megatrends เกิดจากลักษณะพื้นฐานของสังคม หรือคุณลักษณะของประชากร ที่เราไม่สามารถหลีกหนีของจากวัฏจักรนั้นได้ และจะคงอยู่ไปอีก 20 – 30 ปี ซึ่งนั่นหมายความว่าธุรกิจที่ตอบโจทย์ด้าน Megatrends นั้น จะมีศักยภาพเติบโตได้อีกหลาย 10 ปี จึงสามารถลงทุนระยะยาวได้โดยไม่จำเป็นต้องปรับพอร์ตบ่อยครั้ง

ในขณะที่การจัดพอร์ตการลงทุนแบบ Asset Allocation ดั้งเดิม กลับมีจุดอ่อนสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมีลักษณะการกระจายการลงทุนรายประเทศเป็นหลัก ซึ่งสุดท้ายหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือหดตัวอย่างรุนแรงก็จะทำให้พอร์ตการลงทุนเสียหายได้ 

ดังนั้น หากเราปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นจัดพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับ “ยุคสมัยใหม่” ที่ใช้การเลือกธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จาก Megatrends โดยมีผู้จัดการกองทุนคอยคัดสรรบริษัทที่ทำธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับเทรนด์ต่างๆ ย่อมช่วยให้ผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในอนาคตเป็นที่น่าพอใจ ขณะเดียวกันไม่จำเป็นต้องปรับสัดส่วนบ่อยครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับวงจรเศรษฐกิจอีกด้วย

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน