TH EN

ธีมลงทุนที่มีโอกาสเห็นเซอร์ไพร์สเชิงบวก

โพสต์เมื่อ 6 กันยายน 2564 | บทความโดย : นางวรสินี เศรษฐบุตร
ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนและสื่อสารการตลาด สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)

เปิดโลก ค้นหาธีมลงทุนที่มีโอกาสเห็น “เซอร์ไพร์สเชิงบวก” เพื่อวางแผนเลือกกองทุนที่ใช่ สร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจให้กับพอร์ต นี่คือคำแนะนำการลงทุนที่คุณไม่ควรพลาดสำหรับในเดือน ก.ย.นี้

        หลายประเทศในโลกยังคงต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งจนถึงตอนนี้การกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลแบบที่ยังไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

        ภายใต้บรรยากาศที่เกิดขึ้น บางประเทศเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง แต่บางประเทศก็ยังต้องกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง ...แบบนี้ ธีมลงทุนที่มีโอกาสเห็นเซอร์ไพร์สเชิงบวกในอนาคตจะยังมีให้เห็นอยู่หรือเปล่า ?!?

        “คุณวรสินี เศรษฐบุตร” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนและสื่อสารการตลาด สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้ว แม้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมทั้งหมดจะไม่ได้ฟื้นตัวทั้งโลก แต่ก็มีหลายธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัวให้เห็นบ้างแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เป็นแบรนด์ระดับโลก ซึ่งมีลักษณะเป็นสินค้าจำเป็นต่อผู้บริโภคอย่าง ไมโครซอฟท์ เป็นต้น

        ไม่เพียงแค่นี้ หากเจาะลึกลงไป โดยเน้นเลือกธีมที่มีแนวโน้มจะมีเซอร์ไพร์สในเชิงบวกรออยู่ในอนาคต ก็พบว่า มีหลายกลุ่มที่น่าสนใจ และสามารถลงทุนได้ตั้งแต่เดือนก.ย.นี้ เพื่อถือต่อในระยะกลาง - ยาว

ธุรกิจ BIOTECH : โอกาสจากเซอร์ไพร์สสร้างวัคซีนใหม่ และ ควบรวมกิจการ

        นอกจากจะเป็นธุรกิจที่คลาสสิกสำหรับการลงทุนระยะยาวแล้ว กลุ่มนวัตกรรมทางการแพทย์อย่าง ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) ยังมีจุดเด่นที่น่าสนใจในเรื่องโอกาสการเกิด “Positive Surprise” หรือ เซอร์ไพร์สเชิงบวกต่อราคาหุ้นได้ใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

        1.การคิดค้นวัคซีน และยาชนิดใหม่ : ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อมีการประกาศข่าวดี ด้านการพัฒนายา และ วัคซีนใหม่ หรือพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ก็มักจะส่งผลให้บริษัทผู้คิดค้น ได้รับผลดีในแง่ของการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น ตัวอย่างเช่น ราคาหุ้นของบริษัทไบโอเจน อิงค์ ที่พุ่งขึ้นถึง 60% หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ให้การอนุมัติต่อการใช้ยา Aducanumab สำหรับรักษาโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น1

        2.การควบรวมกิจการ : เทรนด์การควบรวมกิจการ (M&A) ในธุรกิจไบโอเทคฯ ยังคงเป็นที่น่าจับตาอย่างต่อเนื่อง โดยนาย David Pinniger ผู้จัดการกองทุน Polar ฺBiotechnology Fund ผู้คร่ำหวอดในวงการมากว่า 20 ปี เผยว่า บริษัทในพอร์ตการลงทุน ในปี 2020 ที่ผ่านมา ได้รับการควบรวมกิจการจากบริษัทยักษ์ใหญ่ถึง 7 บริษัท ส่งผลให้ราคาหุ้นของแต่ละบริษัท ปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากหลังประกาศ

        ตัวอย่างดีลที่โด่งดังคือ บริษัท Immunomedics ที่กองทุนนั้นลงทุนอยู่ ได้รับข้อเสนอดีลควบรวมกิจการมูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นค่าPremium กว่า 108%  จาก  Gilead Sciences บริษัทยักษ์ใหญ่ ด้าน Biopharmaceutical ทำให้าคาหุ้น Immunomedics ปรับขึ้นกว่า 100%  โดยเจ้าตัวมีมุมมองว่า ในปี 2021 น่าจะมีการควบรวมกิจการ (M&A) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง2

        สำหรับการคัดเลือกกองทุนที่น่าสนใจในธีมนี้ แน่นอนว่า กองทุนที่เน้นลงทุนบริษัทด้านไบโอเทคฯ ในสหรัฐฯ และจีน ถือว่ามีความโดดเด่นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการใช้งบประมาณด้านงานวิจัยยาในระดับสูงต่อเนื่อง  จนส่งผลให้ทั้งสองประเทศถือสิทธิบัตรยาด้านไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) เป็นอันดับต้นๆ ของโลก3

        และด้วยความโดดเด่นนี้เอง อาจทำให้ธุรกิจดังกล่าวได้รับความสนใจ ในแง่ของการถูกเข้าซื้อ หรือ ควบรวมกิจการ ซึ่งจะสร้างผลดีให้กับผู้ลงทุนได้ในอนาคตอีกด้วย

ธุรกิจเมกะเทรนด์ในจีน : สัญญาณเด่นจากกองทุนนวัตกรรมชื่อดังเริ่มเข้าซื้อหุ้น

        ช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีน เจอมรสุมปัจจัยลบจากกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนและยังเป็นความเสี่ยงที่ปกคลุมตลาดหุ้นจีนอยู่ อย่างไรก็ตามล่าสุดจะพบได้ว่า เริ่มมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มการกลับเข้ามาซื้อหุ้นจีน ซึ่งมีลักษณะที่เป็น “ของดีราคาถูก” อีกครั้ง

        ประเด็นนี้จะเห็นได้จากการที่ ARK Invest ซึ่งเป็นบลจ. ที่บริหารโดยเน้นธีมการลงทุนในหุ้นนวัตกรรม  “Disruptive Technology” ทั่วโลก ได้กลับเข้ามาเก็บหุ้น JD.com เพิ่ม รวมถึงในฝั่งของ Tencent เอง ก็ประกาศซื้อหุ้นคืน หลังจากที่มูลค่าหุ้นบริษัทต่ำสุดในรอบ 8 ปีอีกด้วย4 ดังนั้น การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา ที่ควรค่าแก่การให้น้ำหนักความสนใจ  

         โดย “คุณวรสินี” มีความเห็นว่า สัญญาณการกลับเข้ามาซื้อหุ้นนี้ เกิดจากในช่วงที่ผ่านมาหุ้นจีนถูกเทขายแบบ “Oversold” ไปค่อนข้างมาก ดังนั้น ตลาดน่าจะรับข่าว Negative เหล่านี้ไปพอสมควร จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุนหุ้นจีนได้

        อย่างไรก็ตาม หากจะลงทุน แนะนำให้เน้นเลือกองทุนที่มีนโยบายในลงทุนใน 5 เมกะเทรนด์ของจีน ได้แก่

1. ค้าขายออนไลน์

2.ธุรกิจเทคโนโลยี

3.ธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์

4.ธุรกิจพลังงานสะอาด

5.ยานพาหนะไฟฟ้า

        ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ ยังคงมีอนาคตสดใส ทั้งในด้านความต้องการใช้ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นจุดที่จะสนับสนุนผลประกอบการให้ขยายตัวขึ้นในอนาคต และสามารถลงทุนได้ในระยะยาวได้

ธุรกิจ Semiconductor : ชิ้นส่วนสำคัญที่อยู่ทุกที่นับจากวันนี้ถึงอนาคต5

        ความจริงแล้ว Semiconductor หรือ ชิป ไม่ใช่ธีมที่ต้องรอการเซอร์ไพร์สเชิงบวกใดๆ ในอนาคต เพราะเพียงแค่ในตอนนี้ ก็ค่อนข้างเห็นโอกาสที่ชัดเจนจากหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น

        1.การฝังตัวในนวัตกรรม ซึ่งอยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) สำคัญ ทั้งปัจจุบันและอนาคต :  “ชิป” ฝังตัวอยู่ในนวัตกรรมต่างๆ หลายอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ 5G และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ต (IoT) ดังนั้น ชิป จึงมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน และจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นตามแนวโน้มความต้องการใช้งานในอนาคต

        2.ประเทศมหาอำนาจให้ความสำคัญ : โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมนี้อย่างมาก เห็นได้จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเพิ่มงบประมาณในการทำ R&D ด้าน Semiconductor โดยตรง จากปัจจุบัน 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปถึง 5,100 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ ในปี 2024 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า ไม่เพียงเท่านี้ยังมีการให้เงินทุนในการผลิต advanced semiconductor, โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ เกี่ยวข้องที่ตั้งโรงงานในสหรัฐฯ รวมถึง มีการให้ประโยชน์ทางภาษีเช่น refundable investment tax ให้แก่บริษัทต่างๆที่ซื้อ อุปกรณ์ semiconductor ใหม่อีกด้วย

        ด้วยจุดเด่นที่กล่าวมา Pwc Research 2019 จึงคาดการณ์ว่า ในช่วง 2016 – 2022 ภาพรวมขนาดตลาด Semiconductor เติบโตเฉลี่ยปีละ 8.9%

        ทั้งหมดนี้ จึงทำให้กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในธุรกิจ Semiconductor หรือ ชิป รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีความน่าสนใจ ... ไม่ต้องรอเซอร์ไพร์ส เพราะเห็นโอกาสที่ชัดเจน

ธุรกิจในยุโรป : ปัจจัยหนุนจ่อดันเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้น

        ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ได้ให้ทิศทางเศรษฐกิจยุโรปในเดือน ก.ย. ได้อย่างน่าสนใจว่า เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งในไตรมาส 3/64 สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือน ก.ค. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบหลายปี

        โดยเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะได้แรงหนุนเพิ่ม จาก 3 ปัจจัย คือ 6

        1.การเบิกจ่ายของกองทุน EU Recovery Fund ที่คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบในเดือน ส.ค. และนับเป็นแรงหนุนสำคัญทางเศรษฐกิจในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

        2. การใช้ Digital COVID  Certificate ที่จะหนุนภาคบริการการท่องเที่ยว

        3. อุปสงค์ที่คาดจะเพิ่ม ขึ้นมากหลังอัดอั้น (Pent-up demand) ภายใต้บริบทที่คาดว่า นโยบายการเงินจะยังผ่อนคลายอย่างมากต่อไป

        จากการฟื้นตัวที่ดีของยุโรปโดยรวม จึงทำให้กองทุนหุ้นยุโรปที่มีกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก ในธุรกิจที่มีคุณภาพเป็นกองทุนที่น่าสนใจ

        หากคุณสนใจกองทุนรวม ที่มีนโยบายการลงทุนในแบบที่เราแนะนำ คลิกลิงก์ด้านล่าง เพื่อติดตามรายละเอียดกองทุนรวมที่เราคัดสรร หรือสามารถกรอกข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. https://www.infoquest.co.th/2021/94162

2. polarcapitalfunds.com

3.World Intellectual Property Organization , as of 12/31/2018, Retrieved on 03/31/2021

4. Bloomberg

5.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) SCB

6. ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TIPS – September 2021)

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน